อักษรวิ่ง

ยินดีต้อนรับสู่ เว็บบล็อกของ รองฯมยุรี คงด้วง รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ Mrs.Mayuree Kongduang : Deputy Director of Department of Planning and Cooperation

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาคมอาเซียนและกฎบัตรอาเซียน คืออะไร และสำคัญอย่างไร ?

by : ทวีศักดิ์ ตั้งปฐมวงศ์
IP : (124.122.148.73) - เมื่อ : 17/08/2009 02:34 PM

   "ประชาคมอาเซียน" (ASEAN Community) เกิดจากสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations-ASEAN) หรือ "อาเซียน" โดยอาเซียนเดิม ได้ถือกำเนิดจากการประกาศ "ปฏิญญากรุงเทพฯ" (Bangkok Declaration) โดยมีประเทศสมาชิกเมื่อเริ่มก่อตั้งรวม  5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์   และสิงคโปร์ เมื่อปี 2510 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และ การบริหาร

ช่วงก่อตั้งอาเซียนได้ผ่านการพัฒนาหลายด้าน มีการประกาศปฏิญญาอีกหลายฉบับ เพื่อขยายความร่วมมือให้ใกล้ชิดและหลากหลายในหลายเรื่อง ได้แก่ปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งสันติภาพและความเป็นกลาง (Declaration on the Zone of Peace, Freedom and Neutrality) ในปี 2514 ปฏิญญาสมานฉันท์อาเซียน (Declaration of ASEAN Concord) ซึ่งมีการตกลงก่อตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนขึ้นที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) หรือ TAC ซึ่งกำหนดหลักการในการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาคของอาเซียนช่วงหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง อาเซียนได้ขยายวงสัมพันธภาพออกไปสู่ประเทศโดยรอบที่เคยอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์มาก่อน และเพิ่มสมาชิกขึ้นเป็น 10 ประเทศ  โดยเวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2538 ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวและพม่า ในปี 2540 และ กัมพูชาได้เป็นสมาชิกรายที่ 10 ซึ่งเป็นรายสุดท้ายที่เข้าร่วมในอาเซียน เมื่อปี 2542 เมื่อเดือนธันวาคม 2540 ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสาร "วิสัยทัศน์อาเซียน 2020" กำหนดเป้าหมายหลัก 4 ประการ เพื่อมุ่งพัฒนาอาเซียนไปสู่ "ประชาคมอาเซียน" (ASEAN Community) ให้เป็นผลสำเร็จภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งจะประกอบด้วย "เสาประชาคมหลักรวม 3 เสา" ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน รวมทั้งจัดโครงสร้างองค์กรของอาเซียนรองรับภารกิจและพันธกิจ รวมทั้งแปลงสภาพอาเซียนจากองค์กรที่มีการรวมตัวหรือร่วมมือกันแบบหลวมๆ เพื่อสร้างและพัฒนามาสู่สภาพการเป็น "นิติบุคคล" ซึ่งเป็นที่มาของการนำหลักการนี้ไปร่างเป็น "กฎบัตรอาเซียน" ซึ่งทำหน้าที่เป็น "ธรรมนูญ" การบริหารปกครองกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศซึ่งผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังปรากฏตามสโลแกนที่ว่า "สิบชาติ หนึ่งอาเซียน"
   จุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมได้สร้างความเป็น "ประชาคมอาเซียน" เกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 14 โดยการประกาศใช้ "กฎบัตรอาเซียน" (ASEAN Charter) จะมีวิถีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ คือเป็นการปรับองค์กรในการทำงานแบบการรวมกลุ่มที่มี "กฎ" เป็นฐานที่สำคัญ (Rule-Based) สมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะต้องปฏิบัติตามพันธะข้อตกลง มีการกำหนด "กลไกระงับข้อพิพาท" พร้อมกับสร้าง "อาเซียน" ให้มีสถานะเป็น "นิติบุคคล" มีการปรับให้เป็นองค์กรที่มี "ประชาชน" เป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มมากขึ้น ทำให้เกิด "กระบวนการตัดสินใจ" จากการประชุมระดับผู้นำ ซึ่งจะปรากฏเป็นคณะมนตรี หรือ (Councils) ของอาเซียนขึ้นทำหน้าที่เป็น 3 เสาหลัก ได้แก่ เสาหลักทางด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมมีการเพิ่มอำนาจ "สำนักเลขาธิการ" (Secretariat) และผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (Secretary General) นอกจากนี้ ประชาคมอาเซียนยังมีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ และลดช่องว่างระหว่างสมาชิกของอาเซียนลงวัตถุประสงค์ที่ปรากฏใน "กฎบัตร" แยกตามเสาหลักที่สำคัญทั้ง 3 เสา อาจสรุปให้เห็นเป็นสังเขป ดังนี้
    เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียน เมื่อเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ได้แก่ สนับสนุนส่งเสริม สันติภาพ ความมั่นคง การปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบธรรมาภิบาล การส่งเสริมให้บรรลุความเจริญร่วมกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ประชาคมเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง มีพลวัตร และยืดหยุ่นได้ในการตั้งรับภาวะผันผวนของเศรษฐกิจ มีหลักประกันที่จะทำให้เกิดสันติสุขในอาเซียน
    เสาหลักทางด้านเศรษฐกิจ มีการเน้นมุ่งพัฒนาให้เป็นตลาดร่วม (Single Market) และเป็นฐานการผลิตอันเดียวกัน (Single Production Base) ซึ่งจะต้องมีการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานฝีมือทั่วทั้งภูมิภาคของประชาคมอาเซียน มีเงินทุนไหลเวียนโดยเสรี และมีสถานะการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหมู่สมาชิกประชาคมที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งเสริมสร้างเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพด้านการเงิน การประสานในด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ มีกฎระเบียบที่ดีด้านการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งประชาคม โดยกำหนดจะให้เร่งพัฒนาพร้อมเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ให้ได้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในปี 2563 มาเป็นในปี 2558 แทน หรือเร็วขึ้นจากเดิมอีก 5 ปี
    เสาหลักทางสังคมและวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียน จะพุ่งเป้าไปที่การทำให้เห็นความสำคัญของประชากรในอาเซียน และเป็นสัมพันธภาพระหว่างประชากรของชาติหนึ่งไปสู่ประชากรของอีกชาติหนึ่ง รัฐสภาของ 10 ประเทศ  จะประสานร่วมมือกันในกิจกรรมต่างๆ สมาชิกของประชาสังคมของสมาชิกจะไปมาหาสู่กัน แลกเปลี่ยนใกล้ชิดระหว่างบุคลากรด้านการศึกษา สถาบันต่างๆ และภาคธุรกิจภาคเอกชนในประเทศสมาชิก รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์ของบุคคลชั้นมันสมอง มืออาชีพ ศิลปิน นักเขียนและสื่อสารมวลชนของทั้ง 10 ประเทศ
   ลักษณะเด่นของกฎบัตรอาเซียนจะมีถ้อยคำที่ให้ตีความได้กว้างขวาง ยืดหยุ่น ทั้งในเชิงเป้าหมายและผลของการดำเนินการ อาเซียนมีวัฒนธรรมการตัดสินใจเช่นนี้ คือมีช่องให้ขยับขยายได้ ตีความได้ มีช่องให้ไม่พลาดรถเมล์คันสุดท้าย ขณะเดียวกันก็มีช่องที่เปิดไว้ ไม่ให้เชยและล้าสมัย

      ทวีศักดิ์ ตั้งปฐมวงศ์
      วิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม


                                                        

1 ความคิดเห็น:

  1. เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 แล้ว การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนจะสะดวกขึ้น แต่ก็พึงระมัดระวังในเรื่องของมิจฉาชีพ การซื้อขายสิ่งเสพติด หรืออื่นๆ ก็ต้องฝากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคงต้องทำงานหนักขี้น ต้องซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความยุติธรรม ประชาชนก็คงอุ่นใจขึ้น ขอเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกท่าน

    ตอบลบ